คลิปด้านบนแสดงให้เห็นถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมัน (Dresden, Germany) เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งบาร๊อก เนื่องจากประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมเก่าแก่มากมายที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์บาร๊อกเป็นหลัก
ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งสิ่งก่อสร้างสวยงามเหล่านี้เคยถูกถล่มเป็นซากหักปรักพังมาก่อนในช่วงสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ในวันแห่งความรักวันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปลี่ยนแผนการโจมตีจากเมืองหลวง กรุงเบอร์ลิน เป็น 'เมืองเดรสเดน' ซึ่งผู้ที่ใกล้จะพ่ายแพ้ต่อกองทัพสัมพันธมิตรก็คือ "นาซีเยอรมัน" นั่นเอง ทั้งๆที่เมืองเดรสเดนไม่ได้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการรบใดๆ มีเพียงทางรถไฟซึ่งคาดว่าเป็นศูนย์รวมแหล่งคมนาคม และโรงงานผลิตอาวุธที่อยู่นอกตัวเมือง
ตัวเมืองเดรสเดนถูมโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดจำนวนกว่า 4,500 ตัน การโจมตีทั้งหมดสามรอบกินระยะเวลาสองวันบนบริเวณกว่า 34 ตารางกิโลเมตร ระเบิดซึ่งเป็นระเบิดไฟทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้กินพื้นที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเก่าทั้งหมด ผู้คนหนีตายกันอย่างอลม่าน เนื่องจากคาดไม่ถึงว่าจะมีการโจมตีนี้เกิดขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ความร้อนจากไฟทำให้พื้นถนนละลายไม่สามารถใช้งานได้ เหมือนพายุไฟที่กำลังถล่มเมืองแม้เจ้าหน้าที่พยายามจะดับเพลิงอย่างไรก็ยากที่จะทำ
ตัวเลขผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ระบุอย่างไม่แน่นอนซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตั้งแต่ 35,000 ถึง 100,000 คน ในจำนวนที่มากที่สุดถูกระบุโดยรายงานฝั่งเยอรมัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงโซเวียตก็พยายามรายงานเป็นตัวเลขที่สูงเพื่อต้องการทำลายชื่อเสียงฝั่งอังกฤษและอเมริกา แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอ้างอิงจากหลักฐานและพยานที่หลงเหลือมีจำนวน 18,000 ถึง 25,000 คนโดยประมาณ ซึ่งก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแท้จริง
เดรสเดนในปัจจุบันนั้นได้รับการบูรณะกลับมาเกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังเหลือร่องรอยแห่งการโจมตีในอดีตให้เห็นอยู่ เช่นตัวกำแพงโบสถ์เก่าที่ทิ้งให้คนรุ่นหลังได้เห็น เป็นต้น ในบทความหน้าเราจะนำเสนอความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองเดรสเดน ศิลปะอันสวยงามจะทำให้คุณรู้ว่า ทำไม Dresden ได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับเมือง Florence ในประเทศอิตาลี
ข้อมูลอ้างอิงและรูป http://www.spiegel.de/ http://www.history.com
http://www.telegraph.co.uk/history/
http://www.russkiymir.ru/en/publications/185353/