Tuesday, March 21, 2017

Dresden จารึกแห่งประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง


Credit: www.germany.travel

คลิปด้านบนแสดงให้เห็นถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองเดรสเดน  ประเทศเยอรมัน (Dresden, Germany) เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งบาร๊อก เนื่องจากประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมเก่าแก่มากมายที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์บาร๊อกเป็นหลัก

ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งสิ่งก่อสร้างสวยงามเหล่านี้เคยถูกถล่มเป็นซากหักปรักพังมาก่อนในช่วงสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่สอง  ในวันแห่งความรักวันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปลี่ยนแผนการโจมตีจากเมืองหลวง กรุงเบอร์ลิน เป็น 'เมืองเดรสเดน' ซึ่งผู้ที่ใกล้จะพ่ายแพ้ต่อกองทัพสัมพันธมิตรก็คือ "นาซีเยอรมัน" นั่นเอง ทั้งๆที่เมืองเดรสเดนไม่ได้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการรบใดๆ มีเพียงทางรถไฟซึ่งคาดว่าเป็นศูนย์รวมแหล่งคมนาคม และโรงงานผลิตอาวุธที่อยู่นอกตัวเมือง

ตัวเมืองเดรสเดนถูมโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดจำนวนกว่า 4,500 ตัน การโจมตีทั้งหมดสามรอบกินระยะเวลาสองวันบนบริเวณกว่า 34 ตารางกิโลเมตร ระเบิดซึ่งเป็นระเบิดไฟทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้กินพื้นที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเก่าทั้งหมด ผู้คนหนีตายกันอย่างอลม่าน เนื่องจากคาดไม่ถึงว่าจะมีการโจมตีนี้เกิดขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ความร้อนจากไฟทำให้พื้นถนนละลายไม่สามารถใช้งานได้ เหมือนพายุไฟที่กำลังถล่มเมืองแม้เจ้าหน้าที่พยายามจะดับเพลิงอย่างไรก็ยากที่จะทำ

ตัวเลขผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ระบุอย่างไม่แน่นอนซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตั้งแต่ 35,000 ถึง 100,000 คน ในจำนวนที่มากที่สุดถูกระบุโดยรายงานฝั่งเยอรมัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงโซเวียตก็พยายามรายงานเป็นตัวเลขที่สูงเพื่อต้องการทำลายชื่อเสียงฝั่งอังกฤษและอเมริกา แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอ้างอิงจากหลักฐานและพยานที่หลงเหลือมีจำนวน 18,000 ถึง 25,000 คนโดยประมาณ ซึ่งก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแท้จริง



เดรสเดนในปัจจุบันนั้นได้รับการบูรณะกลับมาเกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังเหลือร่องรอยแห่งการโจมตีในอดีตให้เห็นอยู่ เช่นตัวกำแพงโบสถ์เก่าที่ทิ้งให้คนรุ่นหลังได้เห็น เป็นต้น ในบทความหน้าเราจะนำเสนอความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองเดรสเดน ศิลปะอันสวยงามจะทำให้คุณรู้ว่า ทำไม Dresden ได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับเมือง Florence ในประเทศอิตาลี

ข้อมูลอ้างอิงและรูป http://www.spiegel.de/ http://www.history.com
http://www.telegraph.co.uk/history/
http://www.russkiymir.ru/en/publications/185353/


Tuesday, January 17, 2017

พาเที่ยว Auschwitz ค่ายกักกันนาซี ประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของมนุษยชาติ



แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศโปแลนด์กันบ้างนะคะ ค่ายกักกันในระบอบสมัยนาซีอย่าง Auschwitz เป็นค่ายกักกันที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ อยู่ระหว่างเมือง Katowice และ Krakow โดยมีภูมิศาสตร์ใกล้กับเมืองเล็กๆอย่าง Oswiecim ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 1940 ภายใต้การดูแลของพรรคนาซีเยอรมัน ค่ายกักกันนี้ถือว่าเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดของนาซีซึ่งใช้สำหรับกักกันนักโทษทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีการสร้างค่ายกักกันอีกทีหนึ่งที่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ชื่อค่าย Birkenau สำหรับกักกันนักโทษทั่วไป โดยเฉพาะนักโทษชาวยิว ที่ว่ากันว่าได้คร่าชีวิตนักโทษไปมากกว่าล้านคนเลยทีเดียว


จากหน้าทางเข้าคำว่า "Arbeit Macht Frei" แปลเป็นไทยง่ายๆว่า ทำงานเพื่ออิสรภาพ เนื่องจากนักโทษทุกคนต้องทำงานอย่างหนักเช้าถึงเย็น แต่ไม่มีใครได้รับอิสรภาพกันเลยทั้งนั้น


สภาพค่ายกักกันโดยรอบจะมีรั้วไฟฟ้า เพื่อป้องกันนักโทษหลบหนี และมีจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ตลอดทุกจุด โดยตึกส่วนใหญ่จะเป็นที่คุมขังหรือที่ทำการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในปัจจุบันนักท่องเที่ยวก็ยังรู้สึกได้ถึงความหดหู่ในอดีต 


ณ ริมขอบรั้ว มีป้ายสัญลักษณ์หัวกะโหลกพร้อมข้อความสองภาษา (เยอรมัน-โปลิช) ที่หมายความสั้นๆว่า "หยุด" ใครก็ตามที่คิดที่จะหนีคงต้องคิดใหม่เป็นแน่


หนึ่งในที่คุมขังนักโทษที่ปฎิบัติหน้าที่ทางการตำรวจในบลอคหมายเลข 11 ประกอบไปด้วยเตียงไม้สามชั้นสภาพซอมซ่อ ซึ่งถูกใช้งานจริงมาก่อน ทุกอย่างยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ นอกจากนี้บลอคหมายเลขนี้ยังเป็นตึกแรกๆที่มีการรมแก๊สนักโทษอีกด้วย ข้างๆบลอคแห่งนี้ยังประกอบไปด้วยลานประหาร 
(รูปด้านล่าง) กำแพงยิงเป้าที่มีผู้นำดอกไม้มาไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก


ส่วนบลอคหมายเลข 10 ใกล้ๆกันนี้ เป็นสถานที่ที่หมอทำการทดลองทางการแพทย์กับนักโทษหญิงชาวยิว นักโทษบางคนสมัครใจเพราะหลงคำอวดอ้างว่า.. หากรอดชีวิตจากการทดลองไปได้จะได้รับการปล่อยเป็นอิสระ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนอกจากความตายและพิการแล้วก็ไม่มีผู้ใดได้รับการปลดปล่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่สุด 

ขอส่งท้ายไปด้วยภาพนี้แทนคำลา และพบกันใน entry ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องราวของค่ายกักกันที่ใหญ่กว่าที่แรกหลายเท่าตัวอย่าง Birkenau